ปีใหม่ม้ง

คำสำคัญ : ตาก, น่าน, ประเพณี, พิธีกรรม, เชียงใหม่, เพชรบูรณ์,
ปีใหม่ม้ง

ช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นช่วงพักผ่อน และเป็นโอกาสในการเลือกคู่ครองเพราะกิจกรรมรวมผู้คนจากต่างหมู่บ้าน เทศกาลปีใหม่ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคม ดังเช่น การกราบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ในเผ่า นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นความผูกพันวิถีความเชื่อ เช่น การฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นไหว้ การกราบไหว้เทพยดา ผี วิญญาณของบรรพชน การถือฤกษ์งามยามดี

 ทั้งหญิงและชาย ต่างพากันสวมชุดประจำเผ่ากันทุกคน ด้วยเครื่องแต่งกายอันวิจิตรงดงาม ซึ่งแต่เดิมนั้นจะนิยมสวมใส่เสื้อสีดำแขนยาว ปลายแขนเสื้อจะมีการปักลวดลายอย่างสวยงาม ขอบแขนเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยผ้าที่ต่างสีจากตัวเสื้อ

ทุกวันนี้แม้งานปีใหม่ม้งคงจัดตามช่วงเวลาส่งท้ายปีตามจันทรคติ หรือจะตกอยู่ราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม แต่ความหลากหลายของผู้คน ลักษณะการแต่งกาย การจัดงานและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นมีบทบาทอย่างเป็นทางการมากขึ้น ในทางหนึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สนองการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสอันดีให้เกิดการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมผ่านงานรื่นเริงและการละเล่น

สุดท้ายสิ่งที่คงอยู่ในงานเทศกาลปีใหม่ ยามที่งานเฉลิมฉลองสิ้นสุด ทุกคนต่างกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ พร้อมกับโชคลาภและสิ่งดี ๆ ที่มาพร้อมกับปีใหม่

ชุดเอกสารเนื่องด้วยงานประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า น่อเป๊โจ่วฮ์” มี 3ลักษณะ ได้แก่ 

หนึ่ง เอกสารงานวิจัยที่มีลักษณะเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาของชาวตะวันตก ประกอบด้วย งานบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จากคณะนักวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสื่อวิชาการ(IWF) เยอรมนี เมื่อ ค.ศ.1965รูปแบบของการบันทึกเน้นการตั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในลักษณะของการสังเกตการณ์ จากนั้นมีการจัดทำเป็นชุดวีดิโอและภาพนิ่งในแต่ละเหตุการณ์ประกอบเอกสารทางวิชาการ ที่เรียกว่า Encyclopaedia Cinematographica 

สอง งานวิจัยของนักวิชาการฝรั่งเศส ศึกษาภาคสนามในช่วง ค.ศ.1973-1978

สาม ข่าวและภาพข่าวในช่วงทศวรรษนี้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนในรูปแบบของการจัดงาน การแต่งกายของกลุ่มชนเชื้อสายม้งที่เข้าร่วมงาน รูปแบบของการจัดงานเป็นทางการมากขึ้น ผู้สนใจจากภายนอกชุมชนร่วมงานมากขึ้น