ยุ้ง...ข้าวกับชีวิต

คำสำคัญ : ชุมพร, สกลนคร, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, เกษตรกรรม, เชียงใหม่,
ยุ้ง...ข้าวกับชีวิต

ในหลายสังคม ยุ้งข้าวเคยเป็นสถานที่ของการเก็บข้าวไว้เพื่อการบริโภคและเพื่อจำหน่าย แต่ขนบปฏิบัติและความหมายของยุ้งข้าวยังมีความน่าสนใจ เช่น การนำข้าวเข้าหรือออกจากยุ้งที่จะต้องให้ความสำคัญกับช่วงเวลาหรือบุคคลที่เหมาะสม ตัวอย่างงานวิจัยจารุวัฒน์ นนทชัย ที่ศึกษาความเป็นมา ความเชื่อและรูปแบบของยุ้งข้าว ในกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง และกลุ่มชาติพันธุ์มอญ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา  ยุ้งข้าวเป็นเครื่องแสดงถึงฐานะเศรษฐกิจ และเครื่องค้ำประกันความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว รวมถึงสะท้อนความเชื่อในที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น แม่โพสพ

ยุ้งข้าวเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับระบบการค้าข้าวในตลาดและรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากร ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยของ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ให้ความสำคัญกับการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมหมู่บ้าน เมื่อเข้าสู่โครงการชลประทานของภาครัฐ ข้อมูลภาพถ่ายจากงานภาคสนามส่วนหนึ่งแสดงยุ้งข้าวในบ้านสันโป่ง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ค.ศ.1980-1981 ในช่วงเวลานั้น ยุ้งข้าวในบ้านสันโป่งคงทำหน้าที่เก็บผลผลิตข้าว ขณะเดียวกัน ยุ้งข้าวสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของชุมชนกับระบบการค้าภายนอก

ยุ้งข้าวยังสามารถสะท้อนให้เห็นการปรับตัวของสมาชิกชุมชนกับสภาพแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ลองสำรวจชุดเอกสารภาพถ่ายของ รศ.ชนัญ วงษ์วิภาค ที่ฉายภาพความหลากหลายของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างยุ้งข้าว ตั้งแต่รูปแบบของการใช้ไม้เนื้อแข็งในการทำผนังยุ้งในการป้องกันแมลงหรือสัตว์ที่จะทำลายข้าวเปลือกที่เก็บไว้ หรือการใช้วัสดุจากแกลบข้าวผสมดินที่เหมาะสมกับการระบายความร้อน ปัจจุบัน ความสะดวกของการใช้วัสดุสำเร็จอย่างแผ่นสังกะสีในการก่อสร้างยุ้งข้าวก็ช่วยให้เห็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการก่อสร้าง

อ้างอิง

จารุวัฒน์ นนทชัย. 2558. ยุ้งข้าว : และสื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Ganjanapan, Anan. 1984. The partial commercialization of rice production in Northern Thailand (1900-1981). Cornell: Cornell University.