ผ้าทอไทลื้อ

คำสำคัญ : น่าน, พะเยา, ลำพูน, สิ่งทอ, เครื่องแต่งกาย, เชียงราย, ไทลื้อ,
ผ้าทอไทลื้อ

ชาวไทลื้อเรียกตัวเองว่า “ลาวคานน้ำ” หรือไทลื้อ จากบริเวณตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมใกล้แม่น้ำลื้อในสิบสองปันนา (เป็นส่วนหนึ่งของจีนในปัจจุบัน) ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุลและแพทรีเซีย ชีสแมน กล่าวถึงหลักฐานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทลื้อมาตั้งบ้านเรือนในล้านนา เมื่อ 200 ปีที่แล้ว “เจ้าครองนครน่านกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนาเข้ามาอยู่ในล้านนาเป็นจำนวนมาก” โดยมาอยู่ในจังหวัดน่าน พะเยา และเชียงราย และยังมีการเคลื่อนย้ายของชาวไทลื้อเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

ผ้าทอของไทลื้อได้รับยกย่องว่ามีความโดดเด่น ด้วยเทคนิคการทอผ้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการมัดหมี่ การจก การขิด และการยกดอก ที่ต้องอาศัยความชำนาญที่สืบทอด แม้ในปัจจุบัน ผ้าไทลื้อและการแต่งกายตามประเพณีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน แต่เสื้อผ้า ผ้านุ่ง และกางเกงของไทลื้อ เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนเสมอ

ข้อมูลว่าผ้าทอไทลื้อที่น่าสนใจและสามารถศึกษาได้จากชุดภาพของผ้าทอ กลุ่มเอกสารของ รศ.ชนัญ วงษ์วิภาค ซึ่งมาจากการศึกษาผ้าไทลื้อของชุมชนชาวลื้อในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านและอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นที่มีชุมชนไทลื้อตั้งถิ่นฐาน และหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ ที่บอกเล่าถึงความหมาย กระบวนการผลิต และการแต่งกายตามประเพณี รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น