แกะ และ กรูด

คำสำคัญ :
แกะ และ กรูด

แกะที่มีลักษณะเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า "เก็บข้าว" เพราะภูมิประเทศของภาคใต้เป็นที่ราบแคบ ปลูกข้าวได้ครั้งละไม่มาก และพันธุ์ข้าวท้องถิ่นมีลำต้นสูง เมื่อรวงข้าวสุก ต้นข้าวจะล้มราบลงกับพื้นและมักสุกไม่พร้อมกันทั้งแปลง การใช้แกะเก็บทีละรวงจึงสะดวกกว่าเครื่องมืออื่น ในขณะที่ภาคกลางมีทุ่งนากว้าง ชาวนาภาคกลางจึงใช้เคียวในการ "เกี่ยวข้าว" ทีละมาก ๆ นั่นเอง

แกะมีส่วนประกอบสำคัญสามส่วนคือ 1) ตาแกะหรือคมแกะ เป็นใบมีดเหล็กกล้า มีหูแหลมสองข้างสำหรับตอกฝังติดกับกระดานแกะ 2) กระดานแกะ ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้เบา ตัดไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ใช้ตอกติดตาแกะ อีกด้านเป็นที่ติดด้ามแกะ 3) ด้ามแกะ ทำจากไม้ไผ่เรี้ย เรียกสั้น ๆ ว่า "เรี้ย" เสียบขวางติดกับกระดานแกะ ใช้เป็นด้ามจับ

กรูดทำจากไม้เนื้อแข็ง มีรูปร่างคล้ายม้าน้ำ ความยาวจากส่วนหัวถึงส่วนหางที่โค้งลง ประมาณ 30 ซม. ส่วนหัวมีลักษณะแบน มีโลหะคมสำหรับตัดรวงข้าว คมมีดกว้างประมาณ 7 ซม. ส่วนกลางเป็นด้ามจับ และส่วนหางมีลักษณะโค้งงอเพื่อสะดวกในการช้อนรวงข้าวให้เป็นฟ่อนขึ้นมาตัด