Loading...

นิทรรศการ “รสชาติอาหารโซ่ง”

นิทรรศการภาพถ่ายจากการทำสารคดีอาหารชาติพันธุ์ เกริ่นให้เห็นเนื้อหาอย่างสังเขปที่พอทำให้รับรู้ถึงวัตถุดิบ กรรมวิธี โดยอาศัยคำบอกเล่าของแม่บ้าน บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี 



เนื้อหาจากคำบอกเล่ายังสะท้อนให้เห็นความเป็นมาของชาวไทยทรงดำ หรือ โซ่งที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสังคมไทยกว่าสองร้อยปี แซมด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่บ่งบอกบทบาทของอาหารในชีวิตประจำวันและห้วงยามสำคัญในพิธีกรรม 

“โซ่ง” หรือชาวไทยทรงดำในไทย

กว่า200ปี ลาวโซ่ง หรือ ไทยทรงดำ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยอพยพมาจากเมืองแถน ในแถบเดียนเบียนฟูของประเทศเวียนามในปัจจุบัน ด้วยสาเหตุของสงครามและการกวาดต้อนผู้คน 

บริเวณตรงนี้เหมือนเมืองแถง หรือ เดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม ...มีภูเขาโอบรอบ...เราชอบภูเขา เราชอบอยู่ที่นี่ ใกล้กับวิถีชีวิตที่เราเคยอยู่ ลำห้วยลำธาร ...ไล่เราไปอยู่ทะเลเราไม่ชอบ ไปอยู่ท่าแล้ง ไม่ถูกอัธยาศัย ที่นี่หนองปรง” ถนอม คงยิ้มละมัย เจ้าของพิพิธภัณฑ์ปานถนอม อำเภอเขาย้อย บอกเล่าถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยทรงดำ 

อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการขนานนามว่าเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวไทยทรงดำในไทย

จากเวียดนาม สู่ลาว และไทย ตามลำดับ ชาวไทยทรงดำตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในแถบอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ในปัจจุบัน จากนั้น มีการเคลื่อนย้ายไปในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคเหนือตอนล่าง เช่น นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ในภาคกลาง เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี รวมถึงภาคใต้ตอนบน เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จนถึงสุราษฎร์ธานี 

ความเชื่อ

ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ อย่างแถนคงมีบทบาทสำคัญในกลุ่มคนโซ่ง

โดยเป็นผีฟ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด 

แถนต้องสูงเสมอคลุมหลังคาบ้าน แถนคือยอดแห่งผี คุมผีเรือน ผีดี ผีไม่ดี แถนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือกว่า คุ้มครอง ปกครองผีให้อยู่ในกฎกติกาถนอม คงยิ้มละมัย

การรักษาวัตถุดิบสำคัญในไห

“ในครอบครัว แม่บ้านต้องรู้จักกักตุนเตรียมไหทั้ง 5 ใบไว้ เป็น 'แม่บ้านแม่เรือน' ..ไหเกลือ เมื่อก่อนได้ปลามาก็ทำเป็นปลาเค็ม ทำเป็นปลาร้า หรือดองหน่อไม้ ใช้เกลือเป็นหลัก ...ไหปลาร้า ถ้าทำปลาร้าเก่ง เป็นหญิงสาวมีค่าตัวแพงทำแล้วปลาร้าไม่เน่า ต้องคอยดูแลความสะอาด ...ไหหน่อไม้ดอง 



เราต้องมีหน่อไม้ดองเพื่อประกอบพิธีกรรม เรียกว่า แกงหน่อส้ม เป็นอาหารที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ...ไหมะขามเปียก ใช้ในชีวิตประจำวัน เราชอบกินแกงส้ม ไม่ชอบแกงกะทิ ...ไหพริก เมื่อขึ้นบ้านใหม่ต้องแบกไหพริกกับไหเกลือ เหมือนเป็นเคล็ด พริกก็แสบสัน เกลือมีความเค็ม คงที่ถนอม คงยิ้มละมัย

อาหารสะท้อนคติความเชื่อ

อาหารหลัก แกงหน่อส้ม แจ่วเอือดด้าน แกงหยวกกล้วย จุ๊บ ...สำหรับแกงหยวกกล้วยให้มีเยื่อใยต่อกัน เราจะแกงในงานแต่งงาน จะได้ไม่เลิกกัน แล้วก็งานตาย ตายจากกันแล้วยังเรียกผีมาขึ้นบ้านไว้เคารพบูชา ในวิถีประจำวันไม่ได้กินกันถนอม คงยิ้มละมัย

ปลาฝอ

คำว่าฝอคือการปรุงอาหารให้สุกโดยไม่ใช้น้ำจะได้รสชาติของปลาและเครื่องแกงที่เข้มข้น

ในน้ำ "ไม่มี" ปลา!

“ ...เมื่อก่อนนี้หาได้ง่าย ปลาปู เดี่ยวนี้เปลี่ยนไป ทำไร่ทำนา ถ้ามีต้องเลี้ยงไว้ในบ่อ ถ้าออกไปข้างนอก ปลาจะโดนสารพิษ มลภาวะข้างนอก จะไม่มีอยู่ จะเลี้ยงก็ในบ่อ" ยุพา คงยิ้มละมัย

“ปลาช่อนอร่อยกว่าเพื่อน”

ลุงเรือง อุ่นอิน ลงมือช่วยแม่ยุพาปรุงปลาฝอ ด้วยการเตรียมปลาช่อนที่ได้จากตลาด 


เครื่องปรุงปลาฝอและการปรุงจากความชำนาญ

เครื่องปรุงปลาฝอ พริก พริกแห้ง พริกสด ข่า ตะไคร้ มะแข่น หัวหอม กระเทียม เกลือ ผิวมะกรูด โขลกรวมกัน ใส่กะปิหน่อยหนึ่ง อย่างละกำมือ หยิบมือหนึ่ง ไม่มีช้อนตวงอะไร แล้วแต่หม้อเล็กหม้อใหญ่” 

ยุพา คงยิ้มละมัย

การใช้ความร้อนกลั่นน้ำจากปลาและเครื่องปรุง จนเข้ากัน

เมื่อเครื่องแกงแหลกคลุกเคล้ากับปลาที่เตรียมไว้ให้เข้าเนื้อ ใส่น้ำปลาร้าปรุงรส จากนั้น นำไปอบในกระทะ ไม่ต้องเติมน้ำ ให้ความร้อนกลั่นน้ำจากปลาและเครื่องปรุง กลายเป็นปลาฝออันโอชา

ต้มโฮเฮเคียงปลาฝอ

อีกหนึ่งเมนูที่น่าลิ้มลองคู่กับปลาฝอที่มีรสชาติจัดจ้าน คือ ต้มโฮเฮ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้มแจ๊บ ใช้เพียงขาหมูต้มใส่เกลือกับตะไคร้ แม้จะเป็นการปรุงอาหารที่ไม่ซับซ้อน แต่เมื่อซดน้ำเคล้ากลิ่นตะไคร้จากต้มโฮเฮกับปลาฝอที่มีรสเผ็ดร้อนแล้วนับว่าลงตัวทีเดียว

หน่อปิ้ง

หน่อปิ้ง สะท้อนความผูกพันของคนไทยทรงดำกับป่าเขา

“สมัยก่อน หน่อไม้มีมาก ทุกครัวเรือนต้มเก็บไว้กิน”

สมัยก่อน ขึ้นเขาไปเก็บหน่อไม้ในป่าครั้งละมาก หน่อไม้ที่ทำหน่อปิ้งอร่อยคือ ไผ่รวกเมื่อก่อนต้องไปหาที่ป่า แล้วต้องไปเป็นคณะ ช่วยกันหาบมา พี่น้อง ญาติ ก็แยกย้ายไปหามา แล้วมาทำหน่อไม้ดอง แต่ตอนนี้มาปลูกไม้ไผ่กันไว้ในบ้าน เอาไว้กินนุชชา จำปาทอง

ลงมือทำ "หน่อปิ้ง"

แช่หน่อสดในน้ำไว้สองสามคืน แล้วเปลี่ยนน้ำทุกวัน หากไม่เปลี่ยน น้ำจะเน่า” แม่นุชชาบอกว่าหน่อไม้จะมีกลิ่นหอมและลดรสชาติขมของหน่อไม้ จากนั้น จึงคลุกขี้เถ้าจากเตาไฟเพื่อให้กรอบก่อนปรุง รสชาติของหน่อไม้ที่ผ่านการปิ้ง แตกต่างจากหน่อไม้สด

เครื่องแกงที่ใช้ในการปรุงหน่อปิ้ง “หน่อปิ้ง”

ข่า, ตะไคร้, กระเทียม, หอมแดง, มะแข่น, พริกแห้ง, เกลือ

ขั้นตอนการปรุง

หลังจากการปิ้ง นำมาปรุง ใช้ใบย่านางต้มหน่อที่เตรียมไว้ครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้น เตรียมเครื่องแกง โขลกข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พอประมาณ พริกพานหรือมะแข่นของชูรส พริกแห้ง เกลือ กะปิ ให้ละเอียด และเพิ่มรสชาติ ด้วยปลาทูเค็มแกะก้างใส่โคลกคลุกเคล้ากันไป เพื่อเพิ่มความหอมและเค็มจากปลาทู

ขั้นตอนสุดท้ายก่อนความอร่อย

เมื่อน้ำเดือดได้ที่ ใส่เครื่องแกง ใส่เนื้อหมูสับหรือหอยแมลงภู่ หรือใส่เนื้อปลาทูมันเพิ่มเติม ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า จึงทำให้รสหน่อปิ้ง เค็มนำ เคล้ารสมะแข่น เคี้ยวหน่อไม้กรอบผสานกลิ่นใบย่านาง


หน่อปิ้ง พร้อมเสิร์ฟ!

แจ่วเอือดด้าน หมูลอย ผักจุ๊บ


แจ่วปลาร้าจิ้มผัก แจ่วเอือดด้านจิ้มเนื้อ แจ่วหวานจิ้มผลไม้

พูดถึงประเภทเครื่องจิ้ม น้ำพริกไทยทรงดำ คนลาวโซ่ง อาหารหลักคือ แจ่วปลาร้า อาหารลาวที่เป็นแจ่วปลาร้าจิ้มผัก แจ่วเอือดด้านจิ้มเนื้อ แจ่วหวานหรือแจ่วเกลือจิ้มผลไม้ คนสูงอายุชอบกินแจ่ว กินได้ทุกวันไม่เบื่อ บางบ้านต้องตำทุกวัน” ถนอม คงยิ้มละมัย

ส่วนผสมของความอร่อย

ส่วนประกอบแจ่วเอือดด้าน มะแข่น กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง เกลือ

“มะแข่น” หรือพริกพานชูรสนำ

มะแข่นเป็นของสำคัญสำหรับการปรุงอาหารเมื่อก่อนเก็บในป่าลึกปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงจะเก็บมาขายกิโลกรัมหลายร้อยบาทส่วนที่นำมาประกอบอาหารเป็นส่วนเปลือกหุ้มมะเมล็ดให้กลิ่นและรสซ่านลิ้น 

ลงมือตำแจ่ว

การตำต้องเริ่มจากมะแข่น จากนั้น พริกแห้งหอมแดงที่เผาได้ที่ โขลกจนละเอียด แล้วปรุงรสด้วยเกลือ เพิ่มรสหวานด้วยน้ำตาล แต่รสดั้งเดิมปรุงเกลือ เพื่อได้รสมะแข่นแท้  

เคียงสำรับ

แจ่วเอือดด้านที่ว่าจิ้มกับเนื้อนั้น อาจะใช้ปลาทอด ปลาทูนึ่ง  หรือ ทำหมูลอยที่นุ่มลิ้นและน้ำซดคล่องคอ โดยใช้หมูสามชั้นทิ้งชิ้นต้มใส่เกลือ สุกแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วนำไปต้มในน้ำเดิมอีกครั้ง ได้หมูที่นุ่มไม่กระด้าง น้ำที่ได้ก็ซดได้นุ่มคนแก่เคี้ยวได้ หากเป็นหมูเนื้อแดงจะแข็งกระด้างชะลอ คงยิ้มละมัย

ผักจุ๊บ ใช้ผักจาก “รั้วข้างบ้าน”

ผักจุ๊บ หรือผักเคียงสำรับ ใช้ได้ทุกผักจากที่เก็บได้ในรั้วบ้าน

การเตรียมผักจุ๊บ

หากเป็นผักหวาน จะใช้การนึ่ง ส่วนผักชนิดอื่น ก็ลวก แล้วหั่นเตรียมไว้ คลุกกับเครื่องผักจุ๊บ

แม่ชะลอ คงยิ้มละมัย 

การเตรียมเครื่องผักจุ๊บนั้น ใช้ปลาช่อนในน้ำปลาร้า หรือ ปลาทูนึ่งที่เอาไส้ออก ใช้พริกคั่ว หอมแดง มะแข่น ข่า โคลกรวมกัน แกะปลาที่ต้มแล้วใส่ลงไปโคลก

...ผักจุ๊บพร้อม

นำผักลวกหรือผักที่ได้เตรียมมาคลุกเคล้ากับเครื่องผักจุ๊บ

รสโอชา

แจ่วเอือดด้านที่ขึ้นชื่อให้ลิ้มรส เคียงหมูลอยนุ่ม และผักจุ๊บรสจัดจ้าน

สารคดีอาหารชาติพันธุ์ โซ่ง

บทสนทนาในสารคดีสะท้อนให้เห็นรสชาติของอาหารของชาวไทยทรงดำที่มีเอกลักษณ์จากส่วนผสม เช่น ปลาร้า และมะแข่น ที่ทำให้รสชาติอาหารนั้นจัดจ้าน

วัตถุดิบหลายอย่างสามารถหาซื้อได้จากตลาด เช่น ปลา มะแข่น บางอย่างก็ปลูกขึ้นในครัวเรือน เช่น หน่อไม้และผักเคียงเครื่องจิ้ม จากเดิมที่ใช้การหาอยู่หากินกับธรรมชาติ