ไหปลาร้า

คำสำคัญ : กรุงเทพมหานคร,
ไหปลาร้า

เกี่ยวกับวัตถุ “ไหปลาร้า

            ไหปลาร้าเป็นภาชนะดินเผา มีรูปร่างป้อม ปากแคบ กลางป่อง ก้นสอบ ไหปลาร้าจะเป็นภาชนะเคลือบสำหรับกันความชื้นหรือเป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง หรืออาจเรียกว่าภาชนะดินเผาเนื้อหิน (stoneware) ซึ่งลักษณะของเนื้อภาชนะดินเผาประเภทนี้จะแกร่งคล้ายหิน เพราะเนื้อดินหลอมละลายติดกัน น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ (ความพรุน 0.5-2%) โดยภาชนะประเภทนี้เผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 1,220 – 1,280 องศาเซลเซียส หรือระหว่าง 1,200 – 1,350 องศาเซลเซียส

            ไหปลาร้าจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไหประเภทอื่นคือ บริเวณรอบปากไหจะทำเป็นขอบซ้อนกันสองชั้น มีประโยชน์คือใช้สำหรับใส่ขี้เถ้าเพื่อป้องกันแมลงวันตอม และปิดปากไหโดยการใช้ผ้าหนา ๆ ห่อขี้เถ้าเพื่อป้องกันแมลงวันลงไปวางไข่เช่นกัน ในภาคอีสานเรียกไหปลาร้าว่า ไหปลาแดก หรือไหปลาแหลก

            จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าการทำไหปลาร้าในพื้นที่ประเทศไทยนั้นมีมาแต่ในอดีต โดยมีการค้นพบหลักฐานอ้างอิงทางโบราณคดีคือพบไหปลาร้าฝังรวมอยู่กับหลุมศพที่บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีอายุกว่า 3,000 ปี แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการถนอมอาหารโดยการหมักดองในสมัยอดีต

            การทำปลาร้ามิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสานหรือในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกจากการที่ต้องเก็บถนอมปลาเอาไว้กินในยามขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ปลา เกลือ และข้าว

            ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ามีการทำอาหารในลักษณะเดียวกับปลาร้าอยู่หลายประเทศ โดยในประเทศไทยเรียกว่า ปลาร้า ประเทศลาวเรียกว่า ปลาแดก ประเทศกัมพูชาเรียกว่า ปราฮ็อก ประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า บากุง ประเทศเวียดนามเรียกว่า มาม ประเทศมาเลเซียเรียกว่า เปกาซัม ประเทศอินโดนีเซียเรียกว่า บากาแซ็ง ประเทศเมียนมาร์เรียกว่า งาปิ๊ การทำปลาร้าจึงนับได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคอาเซียนเนื่องจากในแต่ละประเทศล้วนมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใกล้เคียงกันคือ ปลา เกลือ และข้าว