Loading...

นิทานธรรม "พระมาลัย"

นิทรรศการแนะให้รู้จักกับเอกสารโบราณที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับความเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์ของผู้คน พระมาลัยเป็นพระอรหันต์และได้รับการถ่ายทอดเป็นนิทานธรรม เพื่อยึดโยงให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติดีละเว้นความชั่ว เรื่องราวของพระมาลัยมีหลายรูปแบบ พระมาลัยกลอนสวดในสมุดพระมาลัย จิตรกรรมฝาผนัง และประติมากรรม

ในสมุดพระมาลัย

• เป็นสมุดไทยที่ทำด้วยกระดาษแผ่นยาวต่อกันเป็นแผ่นเดียวและพับกลับไปกลับมา รูปทรงเป็นสี่เหลียมผืนผ้า

• ภายในบรรจุเรื่องราวของพระมาลัยที่สามารถเดินทางไปยังภพภูมิหลังความตาย แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างนรกกับสวรรค์ ใครจะไปยังภพภูมิใดขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเองในโลกมนุษย์

• สมุดพระมาลัยจะใช้วางอ่านสวดหน้าศพ โดยหลังจากสวดอภิธรรมแล้ว ให้พระสงฆ์ 4 รูปสวดพระมาลัยตลอดทั้งคืน ถือเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผ้าย และเป็นการอบรมสั่งสอนคุณธรรมและบาปบุญคุณโทษ

• แม้ในปัจจุบัน ท้องถิ่นหลายแห่งคงมีเฉพาะการสวดอภิธรรมในการสวดหน้าศพ แต่คงมีหีบพระมาลัยหรือหีบหนังสือสวดตั้งไว้ในพิธี

ภาพวาดในพระมาลัย

พระมาลัยมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ บาป บุญ และความสุขในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย โดยมักพบภาพในสมุดพระมาลัยใน 4-5 ลักษณะ ประกอบด้วยภาพเทพพนม ภาพธรรมเนียมการสวดพระมาลัยหรือพระอธิธรรมในงานสวดศพ ภาพแสดงนรกภูมิ ภาพแสดงมนุษยภูมิ และภาพแสดงเทวภูมิ

ลักษณะภาพ

  • เป็นภาพวาดเทพพนมหรือเทวดาประคองอัญชลีบูชาพระรัตนตรัย เพื่อประกอบบทประณามคาถา (บทบูชา) พระรัตนตรัย ในตอนต้นฉบับพระมาลัย และสามารถพบภาพบุคคลอื่น เช่น พระภิกษุ พระอินทร์ พระพรหม ฤาษี นักสิทธิ์ ประนมมือถวายการบูชาไตรสรณคม
  • ในตอนต้นฉบับพระมาลัย ทั้งฉบับของวัดลำพญาและวัดดอนขนาก เริ่มต้นด้วยบทพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ เป็นเนื้อหาธรรมมะ มีเนื้อหาบอกถึงเรื่องราวความไม่เที่ยง ความเป็นของไม่น่ายินดี พึ่งไม่ได้ เป็นอนัตตา ในสมัยพุทธกาลที่พระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานศพ คือ ให้พระสงฆ์ได้พิจารณาเกี่ยวกับความตาย ที่มีเป็นธรรมดา เป็นเทวทูตเพื่อให้ระลึกถึงความดี

การบูชาพระไตรสรณคม

พระอินทร์ (ทางซ้ายมือ) และพระพรหม (ทางขวามือ) ถวายการบูชาพระไตรสรณคม มีดอกบัวในพระกร (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

ภาพฤาษี

ภาพฤาษีหรือนักสิทธิ์ 2 ตนประนมกรถวายบูชา (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

การบูชาพระไตรสรณคม

พระพรหม (ทางซ้ายมือ) มีดอกบัวในพระกร พระอินทร์ (ทางขวามือ) และถวายการบูชาพระไตรสรณคม (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

การบูชาพระรัตนตรัย

เทพพนมประคองอัญชลีบูชาพระรัตนตรัย เพื่อประกอบบทบูชา (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

การสวดพระมาลัยหรือการสวดพระอภิธรรมในการสวดศพ

  • ภาพมักแสดงพระภิกษุสวดพระมาลัยหรือพระอภิธรรมในอากัปกิริยาต่าง ระหว่างการสวดหรือพักสวด เป็นเสมือนการบันทึกเหตุการณ์ที่พบได้ในยุคสมัยนั้น
  • แต่ที่น่าสนใจ คือองค์ประกอบของภาพยังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในงานพิธี และความนึกคิดของชาวบ้านที่มีต่อพระสงฆ์ที่สวดพระมาลัย รวมถึงการสวดคฤหัสถ์ที่เป็นการสวดพระมาลัยโดยชาวบ้าน

พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม

พระสงฆ์สวดพระมาลัยหรือพระอภิธรรม ฆารวาสเฝ้าปรนิบัติพระสงฆ์อยู่เบื้องล่าง (สมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก)

พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม

ภาพพระสงฆ์สวดพระมาลัยหรือพระอภิธรรม มีฆารวาสนุ่งห่มขาว ทางขวา โกศประกอบฉัตร 5 ชั้น ในชั้นเจ้าฟ้าและสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก)

ฆารวาสหน้าโต๊หมู่บูชา

ภาพฆารวาสหน้าโต๊ะหมู่บูชา เป็นที่น่าสังเกตถึงอักษรจีนและอักษรละตินเขียนที่แจกัน (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

พระสงฆ์สวดพระมาลัย

ภาพพระสงฆ์สวดพระมาลัยเป็นที่น่าขบขัน ถูกกล่าวหาว่าไม่สำรวมตามครรลองแก่สมณสารูป ฆารวาสในภาพทางซ้ายมือเล่นหมากรุกและจุดไต้บนขาตั้ง (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

พระสงฆ์สวดพระมาลัย

ภาพพระสงฆ์สวดพระมาลัยเป็นที่น่าขบขัน ถูกกล่าวหาว่าไม่สำรวมตามครรลองแก่สมณสารูป ฆารวาสในภาพทางขวามือสูบยา (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

การสวดคฤหัสถ์

พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมหรือพระมาลัย (ทางขวามือ) สังเกตการตั้งหีบพระมาลัย ส่วนฆารวาสทั้งสี่ (ทางซ้ายมือ) น่าจะเป็นการสวดคฤหัสถ์ เป็นการสวดที่นิยมเล่นในงานศพ เป็นการเล่นเลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ และเล่นในตอนดึกหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว

นรกภูมิ

  • ภาพเล่าเรื่องจากเนื้อหาในพระมาลัยในตอนโปรดสัตว์นรก หรือผู้ที่ตกนรก โดยจะแสดงให้เห็นโทษทัณฑ์ที่ได้รับจากบาปที่ได้ก่อไว้ในตอนเป็นมนุษย์ 
  • ภาพยังต่อเนื่องในตอนพระมาลัยโปรดนรก ภาพเขียนในสมุดพระมาลัยแต่ละเล่มจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้วาดในการเลือกฉากตอนในการนำเสนอ
  • ส่วนใหญ่เป็นการเยี่ยมหรือสนทนาและดับฤทธิ์ไฟนรกเป็นการชั่วคราว เหล่าสัตว์นรกมักจะประนมมือแสดงความยินดีที่พ้นทุกข์ จึงแจ้งข่าวกับพระมาลัยให้บอกแก่ญาติทำบุญกุศลเพื่ออุทิศมาให้และเกรงกลัวต่อบาป

สิมพลีนรก (สมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก)

  • นรกภูมิเป็นภาพสิมพลีนรก คือนรกที่เต็มไปด้วยต้นงิ้ว และโลหกุมภีนรก คือนรกที่มีหม้อบรรจุน้ำเหล็กไว้ต้มเคี่ยวสัตว์นรก
  • ทางขวามือ ภาพสัตว์นรกและเปรตเฝ้าประนมมือแสดงความยินดีที่พ้นจากความทุกข์ และแจ้งข่าวกับพระมาลัยให้ไปบอกแก่ญาติให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลมาให้

เปรต (สมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก)

เปรตที่ถูกฝูงแร้งการุมกัดกินเนื้อหนัง (ทางซ้ายมือ) เพราะเมื่อยังเป็นคนฆ่าสัตว์เลี้ยงและวัวควาย (ทางขวามือ)

ข้อความจากสมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก

ยังมีเปรตหนึ่ง ลำบากหนักหนา เป็นเหยื่อแร้งกา 

ฝูงสัตว์อยู่รุม สุนัขใหญ่น้อย พลอยกันกินกลุ้ม

แร้งกานกจะกรุม จิกสับเสียวเอา

(...)

ฝูงเปรตหมู่นี้ เมื่อยังเป็นคน ฆ่าสัตว์เลี้ยงตน

บ่มิได้อดสู ฆ่าเนื้อฆ่าควาย บ่มิได้เอ็นดู

แทงสัตว์ให้อยู่ ดิ้นล้มดิ้นตาย




  • เนื้อหาแสดงให้เห็นภาพของความทุกข์ทรมานที่สัตว์นรกได้รับจากบาปกรรม และแจกแจงให้เห็นการกระทำผิดอันเป็นเหตุให้ต้องรับโทษทัณฑ์

สิมพลีนรก (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

ภาพสิมพลีนรก คือนรกที่เต็มไปด้วยต้นงิ้ว และโลหกุมภีนรก คือนรกที่มีหม้อบรรจุน้ำเหล็กไว้ต้มเคี่ยวสัตว์นรก

ทุกขเวทนาจากบาปชายมีชู้ขึ้นต้นงิ้ว

"ผู้นั้นใครไปปลิด ลืมชีวิตจากเมืองตน

ไปขึ้นงิ้วบัดเดียวดล ในไม้งิ้วกว่าพันปี

หนามงิ้วคงยิ่งกรด โดยโสฬสสิบหกองคุลี

มักเมียท่านมันว่าดี หนามงิ้วยอก"



  • ข้อความในสมุดพระมาลัยตอนดังกล่าวเปรียบเทียบจากเนื้อหาของสมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก แสดงให้เห็นความเจ็บปวดของสัตว์นรกที่มีหนามทิ่มแทงทั่วร่างกาย

พระมาลัยโปรดสัตว์นรก (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

ภาพทางซ้ายมือ พระมาลัยโปรดสัตว์นรก บอกนำความมาบอกให้ญาติในเมืองมนุษย์ทำบุญและกลัวบาป

พระมาลัยโปรดสัตว์นรก

เที่ยงแท้เป็นเหลือใจ พระเถรมาลัย

มีฤทธิหนักหนา

เธอโปรดนรกเปรตา  ให้พ้นทุกขา

เป็นสุขสำราญ

เหตุดังนี้เที่ยงแท้ พระเถรนี้แล

มีบุญสมภาร

เธอย่อมนำสัตว์ล่วงสงสาร เข้าสู่นิพพาน

พ้นทุกขภัย



  • ข้อความในสมุดพระมาลัยตอนดังกล่าวเปรียบเทียบจากเนื้อหาของสมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก แสดงให้เห็นถึงบุญบารมีของพระมาลัยที่ดับฤทธิ์ไฟนรกและเป็นสื่อส่งสารมายังเมืองมนุษย์

มนุษยภูมิ

ภาพบันทึกสิ่งที่เป็นกุศลบุญของผู้คนในมนุษยภูมิ แสดงให้เห็นการตักบาตรถวายภัตราหารแด่พระสงฆ์

นอกจากนี้ยังเล่าเรื่องจากเนื้อหาที่มีชายยากจนถวายดอกบัวแด่พระมาลัย เก็บดอกบัวจากสระจำนวน 8 ดอก และนำมาถวาย จากนั้นพระมาลัยเหาะไปยังดาวดึงส์เพื่อนำดอกบัวไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณี 

จุฬามณีเจดีย์ ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนเถรวาท เป็นเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่บรรจุพระจุฬา (จุก) พระโมลี (มวย) และพระเขี้ยวแก้ว (ฟัน) ของพระโคตมพุทธเจ้า

การทำบุญกุศล

ภาพของการทำบุญกุศลในมนุษยภูมิ (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

การทำบุญกุศล

ภาพของการทำบุญกุศลในมนุษยภูมิ สังเกตการตักบาตรที่มีการตั้งโต๊ะ อาจสัมพันธ์กับภาพของการสวดพระมาลัยหรือพระอภิธรรมที่มีการตั้งโกศ 

การถวายดอกบัวให้พระมาลัย

การถวายดอกบัวให้กับพระมาลัยตามเนื้อหาในกลอนสวด

ภาพเล่าเรื่องชายยากจน

ชายนั้นจึงเก็บ เอาดอกไม้มา ด้วยใจศรัทธา ชื่นชมยินดี

ชายนั้นจึงเห็น พระเถรมาลัย อันมาแต่ไกล สำรวมอินทรีย์ เล็งไปทั่วแอก เห็นงามมีศรี มีอิทฤทธี มีฌานผ่องใส

ชายนั้นครั้นเห็น พระเถรมาลัย จึงเดินเข้าไป ด้วยใจกุศล ชายนั้นจึงถวาย ดอกไม้อุบล ด้วยใจกุศล แก่พระมาลัย



ข้อความในสมุดพระมาลัยตอนดังกล่าวเปรียบเทียบจากเนื้อหาของสมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก สอดคล้องกับภาพวาดในสมุดพระมาลัย วัดลำพญา แสดงให้เห็นการตั้งจิตอธิษฐานจากการทำบุญในการถวายบัวเป็นทาน

เทวภูมิ

ภาพประกอบด้วย 3 ตอนที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ พระมาลัยสนทนากับท้าวสักเทวราช (พระอินทร์), เทพบุตรและเทพบริวารเหาะมาสักการะพระเจดีย์จุฬามณี, พระศรีอาริยเมตไตรยบูชาพระเจดีย์จุฬามณีและสนทนาธรรมกับพระมาลัย

นับเป็นตอนที่สำคัญเพราะแสดงให้เห็นกรรมดีและผลแห่งกรรมดีของเทพบุตรและเทพบริวารที่มาจุติในเทวภูมิ

สักการระพระจุฬามณี

เทพบุตรและเทพบริวารเหาะมาสักการะพระเจดีย์จุฬามณี (สมุดพระมาลัย วัดลำพญา)

การสนทนากับท้าวสักเทวราช

พระมาลัยสนทนากับท้าวสักเทวราช (พระอินทร์) (สมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก)

พระมาลัยได้พบพระศรีอาริยเมตไตร

พระมาลัยเจ้าแลเห็น พระศรีอาริยเมตไตร

จึงถามท้าวโกสีย์ ด้วยคำเพราะไปบัดดล

ดูราพ่อบพิตร อันเรืองฤทธิด้วยเดชผล

มานี้ทศพล ฤาฉันใด

ท่านนั้นพ้นประมาณ พระศรีอาริย์ฤาว่าใคร

พระอินทร์จึงขานไป ว่านั้นแลพระศรีอารย์

พระเถระเห็นเทวา มาก่อนหน้าและตระการ

ครั้นเห็นองค์พระศรีอาริย์ ยิ่งขึ้นไปได้แสนทวี

เนื้อหาแสดงให้เห็นบุญบารมีของพระศรีอาริย์ที่สะสม และเนื้อหาในส่วนต่อมาจะแสดงให้เห็นการพยากรณ์ถึงยุคก่อนพระศรีอาริยเมตไตรยและยุคพระศรีอาริยเมไตรย

กรรมดี

การสนทนากับพระศรีอารย์ได้แจงให้เห็นกรรมดีของเทพบุตรและเทพบริวาร สังเกตพระเจดีย์จุฬามณีอยู่เบื้องหลังเหล่าเทพบุตรและเทพบริวาร (สมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก)

ยุคพระศรีอารยเมตไตรย

แผ่นดินเสมือนคนปราบ ราบกว่าราบดั่งหน้ากลองศรี

หญ้าแพรกยาวสี่องคุลี เขียวมีศรีงามบรรจง

น้ำไหนขึ้นข้างหนึ่ง ฟากข้างหนึ่งก็ไหลลง

เต็มเปี่ยมเลี่ยมสระสรง เพียงชอบฝั่งอยู่อาจิณ

บ่พร่องบ่อล้นนัก แต่พอกากันลงกิน

เต็มอยู่เป็นอาจิณ ใสบริสุทธิ์เห็นตัวปลา




ข้อความในสมุดพระมาลัย วัดลำพญา ตอนดังกล่าวเปรียบเทียบจากเนื้อหาของสมุดพระมาลัย วัดดอนขนาก แสดงให้เห็นยุคพระศรีอาริยเมตไตรยที่กลายเป็นยุคที่ผู้ศรัทธาเพียรทำบุญกุศลเพื่อให้เกิดในยุคที่มีแต่ความชุ่มเย็นและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน

สมุดภาพพระมาลัยของวัดดอนขนากและวัดลำพญา จังหวัดนครปฐม

ผู้สนใจเข้าชมสมุดภาพพระมาลัยจากฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก 

วัดดอนขนาก

  • วัดดอนขนาก ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม 
  • เดิมเป็นที่ดอนมีต้นป่าขนากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนที่อาศัยอยู่ได้เรียกชื่อตามการอนุรักษ์ของท้องถิ่นที่มีป่านั้นว่า ดอนขนาก ต่อมาได้จัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อ .. 2450 มีเหตุการณ์ผลัดเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสอีกหลายรูป จนถึงพระอธิการศรีทอง อังสุทตฺโต เจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัตถุเจริญรุ่งเรืองมาก .. 2499

พิพิธภัณฑ์ตลาดน้ำวัดลำพญา

  • วัดลำพญา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ในเขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม 
  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูง สร้างติดแม่น้ำนครชัยศรี เปิดให้เข้าชมครั้งแรก .. 2543 นอกเหนือจากเครื่องใช้พื้นบ้านแล้ว พิพิธภัณฑ์จัดเก็บหีบพระธรรม ธรรมมาสน์ สมุดไทย ซึ่งเป็นที่มาของภาพในนิทรรศการเรื่องนี้

ขอบคุณ

  • ดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสมุดพระมาลัยและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
  • เด่นดาว ศิลปานนท์. 2553. แกะรอยพระมาลัย. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส.