Loading...

แม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง

บทบันทึกเรื่องราวของคนกับข้าว (พ.ศ.2559) บ้านคลองบางซื่อ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

แม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง

นิทรรศการเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำภาพยนตร์สารคดีบันทึกพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ บ้านคลองบางซื่อ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม


พิธีกรรมที่จะได้กล่าวต่อไปแบ่งเป็น 2 ลักษณะ


หนึ่ง พิธีกรรมที่เป็นการสาธิตของยายกลุ่ม จันทร์บำรุง การทำงานมาจากความต้องการบันทึกพิธีในระดับครัวเรือน อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จึงจำลองพิธีกรรมดังกล่าว ตั้งแต่การเตรียมเครื่องถวายและการประกอบพิธี   


สอง พิธีทำขวัญข้าวที่จัดขึ้นโดยชาวคลองบางซื่อและด้วยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองไร่ขิง การทำขวัญข้าวและการเชิญขวัญแม่โพสพ งานดังกล่าวจัดขึ้นด้วยความต้องการของคนคลองบางซื่อในการรื้อฟื้นประเพณี และจัดต่อเนื่องกัน

แม่โพสพคือใคร

วรรณา นาวิกมูล (2545) กล่าวถึงแม่โพสพในบทความเรื่อง แกะรอยแม่โพสพ ว่าเป็นเทพีแห่งข้าว เป็นบุคลาธิษฐานตามคติไทย 

ในความเห็นของเสถียรโกเศศ (2492) ผีหรือเทวดาประจำพืชพรรณธัญชาติ มักนิยมกันว่าเป็นผีหรือเทวดาผู้หญิง ...เพราะข้าวเป็นสิ่งเลี้ยงชีวิตให้เจริญ เปรียบเหมือนมารดาที่เลี้ยงลูก เหตุฉะนั้นชาติต่าง จึงมีความคิดเห็นร่วมกันว่าต้องเป็นผู้หญิง ฝรั่งชาติต่าง เรียกผีหรือเทวดาประจำข้าวว่าแม่ข้าวบ้างแม่แก่หรือแม่เมียแก่บ้าง

"แม่ข้าว" เสมือนชีวิต

รอย ฮามิลตัน (Roy W. Hamilton) (2003) กล่าวถึงชีวิตของข้าวที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวสตรี การประกอบพิธีกรรมในแต่ละช่วงเวลาของการปลูกข้าว จึงเสมือนหนึ่งการประกอบพิธีกรรมในช่วงชีวิตของเทวดาผู้หญิง ดังเช่นการประกอบพิธีเมื่อข้าว “ตั้งท้อง


ในทัศนะของเอี่ยม ทองดี (2541) พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมข้าวที่สังคมสร้างขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ความเป็นสุขของผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


ด้วยความเชื่อดังกล่าว ปรานี วงษ์เทศ (2541) อธิบายว่ามนุษย์ต้องดูแลแม่โพสพเหมือนดูแลแม่ตัวเอง ต้องมีความกตัญญู ต้องเคารพนับถือ มีกริยาที่สุภาพเรียบร้อย จะพูดจาหยาบคาย พูดเสียงดังไม่ได้ แม่โพสพเป็นคนขวัญอ่อนเพราะถ้าเกิดความไม่พอใจจะหนีไป ตามตำนานแม่โพสพเคยหนีไปหลายครั้งด้วยความน้อยใจเวลาคนพูดเสียงดัง

รูปของแม่โพสพ

ฉันนะ วารมัน (2502) บันทึกใน ตำรับเครื่องลางของขลัง  “แม่โพสพมีรูปองค์เป็นหญิงไทยแบบโบราณ คือนุ่งผ้ายก ห่มผ้าสไบเฉียง ที่ศีรษะสวมกระบังหน้า มือขวาถือรวงข้าว นั่งบนเตียงตั่ง


เอี่ยม ทองดี (2538) กล่าวถึงนางโศลก นางมีลักษณะเป็นหญิงสาว ท่าทางอ่อนช้อยสวยงาม ภาพของนางที่สร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาเป็นท่านั่งพับเพียบ มือขวาถือรวงข้าว มือซ้ายถือถุงข้าว แต่งกายนุ่งผ้าห่มสไบเฉียงแบบหญิงในวังสมัยก่อน


การทำนากับการพึ่งพิงธรรมชาติ

ยายกลุ่ม จันทร์บำรุง เล่าถึงชีวิตการทำนาในอดีต


ถ้าทางโบราณก็เรียกเดือนหก ก็ออกไปทำนากับพ่อกับแม่ เลี้ยงวัวเลี้ยงควายสี่ตัวห้าตัว แต่ก่อนทำนาหนเดียว พอประมาณเดือนเจ็ดเดือนแปดกำลังดำนากัน 


ถ้ารอน้ำฝนคงไม่ได้หรอก ตอนที่ป้าเป็นเด็กนี่มีคลองก็ต้องใช้เครื่องวิดน้ำขึ้น ถ้าฝนตกเมื่อไรมันก็ช่วยได้ ดีไม่ดีก็แย่งกันวิดน้ำในคลอง มึงก็วิดกูก็วิด บางทีวิดแทบไม่ทัน 


พอดำเสร็จก็ประมาณเดือนสิบ ข้าวก็เริ่มตั้งท้องแล้ว ก็ทำขวัญข้าวกัน แต่ต้องทำข้างขึ้นนะ ข้างแรมเขาไม่ทำกันนะ ไม่รู้โบราณเขาเป็นไง  บางคนก็ทำเกือบเดือนสิบเอ็ด ข้าวมันไม่เหมือนข้าวนาปรัง

วัฏจักรการทำนาในอดีต

พิธีทำบุญแม่โพสพเมื่อครั้งอดีต

“...ข้าวท่านกำลังท้องก็เอาด้ายสายสิญจน์มา แล้วก็เอาธงปัก ธงก็สามสี แต่บางคนก็ใช้สีเดียวสีขาว  และก็อ้อยปักตรงกลาง รวมข้าวสามกอแล้วก็เอาด้ายผูกรวมกันไว้ 


ต้องมีกระจก มีหวี มีน้ำ มีแป้งล้อมสารพัดทุกอย่าง น้ำมันใส่ผมนี้ต้องมี และก็หมากพลู มันเทศ เผือก พร้อมไว้เลย และก็ของเปรี้ยวๆ พวกฝรั่ง ส้ม พุทรา อะไรก็ได้ของเปรี้ยวๆ อ้อยเราก็ตัดใส่กระทงเล็กๆ หมากพลู มะพร้าวอ่อน ขนมจันอับใส่ถั่วงา


เอาผ้าม่วงนี้นุ่งข้าวสามกอที่เรารวมไว้ แล้วก็ใส่แหวนใส่สร้อย เสร็จแล้วก็เอาน้ำมันลูบใบข้าวที่เรารวมไว้ เอาน้ำหอม แป้งประพรมให้เรียบร้อย และก็มีหวีมีกระจกพิงไว้ 

บายศรีต้องใส่ข้าว ใส่ขนมต้มแดง ต้มขาว เหมือนที่เขาทำขวัญนาค ก็มีดอกไม้ธูป แล้วเราก็ทำขวัญ

ยายกลุ่ม จันทร์บำรุง


เครื่องประกอบพิธี

ต้นข้าวแสดงบุคลาธิษฐานความเป็นสตรี นุ่งผ้านุ่งและสวมสร้อยทอง มีแป้งและน้ำมันสำหรับการประพรม 


ผลไม้รสเปรี้ยว ขนมต้มแดง ต้มขาว จัดเตรียมในกระทง 


ผู้ประกอบพิธีที่หัวนานั่งบนเสือ กล่าวคำเรียกขวัญแม่โพสพ พร้อมแต่งองค์ทรงเครื่องและถวายเครื่องเซ่น


ธงสีขาวเย็บติดกับกิ่งไผ่ขนาดเล็กเพื่อปักบริเวณประกอบพิธี

ยายทองหยิบกล่าวถึงสีขาวของธงเขาก็ว่าสีบริสุทธิ์ มีสามชั้นก็เป็นของแม่ธรณีชั้นหนึ่ง ของแม่คงคาชั้นหนึ่ง ของพระพาย....”

ตำบลไร่ขิง แหล่งดินโอชา ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน

ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีน และเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวและพืชสวน ตั้งแต่ราว ..2500-2520


พื้นที่พอจะแบ่งออกไป 2 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ 

พื้นที่ฝั่งคุ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดท่าพูดและบ้านเรือน โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ 

ฝั่งเลน หรือฝั่งเกาะซึ่งเป็นฝั่งตรงข้าม และเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เพราะเป็นช่วงโค้งของแม่น้ำที่เลนและตะกอนเป็นธาตุอาหารอย่างดีสำหรับการเกษตรกรรม 

ลุงพนม ศรีสนิทกล่าวถึงดินโอชาที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก 

ถนนมาที่นาราคาแพง ตั้งโรงงาน บ้านจัดสรร

ตั้งแต่ราว .. 2500-2520 การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมกับกรุงเทพมหานคร ถนนเพชรเกษม ถนนพุทธมณฑล และถนนบรมราชชนนี 


ในช่วงทศวรรษ 2530 บริเวณตำบลไร่ขิงเป็นปริมณฑลที่สำคัญในการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมืองสำหรับที่พักอาศัยในแถบชานเมืองและอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพ


ราคาของที่ดินเพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนผู้ครอบครองที่ดิน รวมทั้งลักษณะของการใช้พื้นที่ จากการเกษตรกรรมสู่การเกษตรกรรมผสมผสานกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ รวมถึงการใช้ที่ดินที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย


ทุกวันนี้ที่ดินหลายผืนเปลี่ยนมือจากชาวบ้านสู่การครอบครองของเจ้าของกิจการทั้งรายใหญ่และรายย่อย

ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง

คลองบางซื่อนี่ทำนามากที่สุดนะครับ ใกล้ พันไร่มั้ง เยอะที่สุดในตำบลไร่ขิง แต่ตอนนี้ก็ลดลงไปเยอะ เพราะพวกโรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็มีหมู่บ้าน ทำให้การเกษตรลดลงไป


...รุ่นเราเนี่ยทำเกษตรกันรุ่นสุดท้ายแล้ว ลูกหลานก็ไม่เคยเข้ามายุ่งเลย ไม่สนใจเลย มุ่งเรียนกันอย่างเดียว ตอนนี้คือก็ต้องจ้างกันอย่างเดียวเลย จะไปไถเองร่างกายก็ไม่ไหวแล้ว 


ถ้าทำเทือกลงทำเทือก คือเตรียมดินเนี่ยผมทำเอง จ้างเขาหว่าน ส่วนใส่ปุ๋ยก็ใส่เอง  แล้วก็จ้างเกี่ยวเท่านั้นแหละ คือไม่ได้จ้างทุกอย่าง


ผมทำทั้งหมดเกือบ 40 ไร่ ...คือถ้าเราจ้างเขาหมด คงไม่เหลือหรอก

สำรวย กันทวี ประธานชุมชนบ้านคลองบางซื่อ

รับขวัญแม่โพสพ ชุมชนคลองบางซื่อ

ประมาณซัก 30 ปีได้ที่เริ่มประกอบพิธีการทำขวัญข้าวในคลองนี้ 


คือจริง แล้วคนโบราณเชื่อว่า เป็นสำนึกในบุญคุณว่า ข้าวที่ได้รับประทานคือได้มาจากแม่โพสพของเรา ก็มาสำนึกในบุญคุณก็จัดทำศาลพระแม่โพสพ 


ในเย็นนี้ จะมีการสวดมนต์เย็นตอนเช้า ในวันต่อมาก็ถวายอาหารบิณฑบาต หมายถึงพระฉันแล้วก็ต้องให้พระเอาไปฉันเพลด้วย


...ก็ทำกันเป็นประจำทุกปี คนในคลองและก็คนแถวใกล้เคียงก็จะมา”         


จำนง ทองประไพ เลขานุการนายกเทศบาลเมืองไร่ขิง 

ความหมายที่เปลี่ยนแปลง

ราว 2525 เทศบาลฯ เข้ามา ก็มีการจัดสรรงบประมาณมา ก็อาศัยออกบัตรเชิญคนในตำบลทุกคลองให้มาร่วมกันให้เยอะ ต่างตำบลก็ให้มาร่วมกันนะ เพื่อที่ว่าจะได้มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเอาไว้ 


...ผิดกับเมื่อก่อนที่เขาไปทำอยู่ในนา เดี๋ยวนี้ไม่ใช่การทำนาตามฤดูกาล 

 

การทำนี้หมอขวัญที่ทำพิธี ไม่ใช่ดั้งเดิม จริงๆ แล้วเขาทำในพื้นที่นา ในท้องนาเลย กับดินเลย แต่เราไปทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว  ...เราก็เลยสร้างศาลขึ้น


ลุงมานะ เถียรทวี ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

ประเพณี “แบบทางการ”

พอสร้างศาลก็อัญเชิญแม่โพสพเข้าไปไว้ ก็เรียกว่าศาลแม่โพสพก็มีตั้งโต๊ะเครื่องสังเวย มีผลหมากรากไม้ 


ส่วนปะรำ เดิมทีเราก็ใช้เต็นท์ อันนี้ก็เป็นงบประมาณของส่วนราชการ มาสร้างเป็นโรงเรือน ก็สะดวกไปอย่างหนึ่ง 


ถึงตอนเย็น เรียกสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร สวดเมล็ดพันธุ์พืช บางบ้านยังไม่ได้หว่านข้าว ก็เอาเมล็ดข้าวที่มาเข้าพิธีสวดไปหว่านก็งอกงามดี ที่เป็นต้นข้าวจริง  ก็เอาไปดำในแปลงนา 


บางคนก็เอาข้าวที่เอามาสวดนี้เอาไว้ทำพันธุ์ ถือว่าเป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง


ลุงมานะ เถียรทวี ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

“...ตั้งแต่ประมาณ .. 2520 ก็เลิกใช้วัวควาย ก็มาใช้เครื่องจักรแทน จนมาปัจจุบันนี้ 


การเกี่ยวข้าวก็ใช้เครื่องจักร การไถก็ใช้เครื่องจักร การตีดินใช้เครื่องจักร ...เรียกว่า ทำนาโดยจ้างทุกอย่าง ไม่มีอาชีพทำนาโดยแท้ 


เป็นบริษัทเข้ามารับเหมาแล้วมาตีดิน มาหว่านข้าว มาดำนา มาไถนา ทุกอย่าง (เวลาเก็บเกี่ยว) เขามีรถเก็บอยู่นั้นเสร็จ ไซโลเปิดขึ้นใส่รถสิบล้อ มันก็วิวัฒนาการไป  ...แล้วผลิตผลมันก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร 


คนทำไม่ได้กิน ทำไปขายหมด แล้วเราไปซื้อข้าวมากิน


ตอนนี้มีแต่พิธีกรรมให้เราเห็น เราทำเวียนเทียนแม่โพสพแล้ว ไหว้แม่โพสพ แต่ในจิตสำนึกของเราไม่เหมือนคนโบราณ เขานับถือ ไม่เหยียบข้าวสักเม็ด เห็นข้าวหก ข้าวหล่น เขาจะเก็บ 


ในปัจจุบันนี้ เราทำพิธีต่าง เกี่ยวกับแม่โพสพเหมือนกัน แต่ในจิตวิญญาณมันไม่มี


ลุงมานะ เถียรทวี ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

ภาพยนตร์สารคดี “แม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง”

โดย พิสุทธิ์ ศรีหมอก

ขอบคุณ

ข้อมูล

ยายกลุ่ม จันทร์บำรุง

ลุงมานะ เถียรทวี

ปัณณฑัต กฤชชัยพฤกษ์

เรืองทิพย์ จันทร์ทิสา

จำนงค์ ทองประไพ

สำรวย กันทวี

และชาวบ้านคลองบ้านซื่อ


ภาพ 

ศิวพงษ์ วงศ์คูณ

พิสุทธิ์ ศรีหมอก


ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม

สามารถสืบค้นได้ได้ในฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย เรื่อง ทำขวัญข้าว