
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์หลายชิ้นงานนำเสนอภาพของความเปลี่ยนแปลงในสังคมชาติพันธุ์ลาวครั่ง
ที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 การกลายเป็นเมืองและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศสะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชนลาวครั่ง
อย่างไรก็ดี ระบบความเชื่ออีกจำนวนหนึ่งคงได้รับการสืบทอด
พร้อมไปกับความเปลี่ยนแปลงให้สอดรับการดำเนินชีวิต
ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ
การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ลาวครั่งในหลายจังหวัด ที่ชุมชนตั้งอยู่ ในช่วงกลางทศวรรษ
2540 ถึง 2550 เกิดความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูวัฒนธรรม
การรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งข้ามจังหวัดและข้ามประเทศ
กระบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางการมากยิ่งขึ้น
โดยเห็นได้จากการสนับสนุนของราชการ
ข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ลาวครั่งที่ยกตัวอย่างในที่นี้ทั้ง
3 แห่ง เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน การรวบรวมข้าวของที่มีความสำคัญกับชาวชุมชน
เช่น ผ้าทอ เครื่องใช้ทางการเกษตร และเครื่องใช้ในวัด
นับว่าเป็นส่วนที่สะท้อนให้เห็นความตระหนักอัตลักษณ์ชาติพันธุ์
ช่วยให้ผู้ที่สนใจเข้าใจถึงพัฒนาการและความเป็นมาของผู้คนและถิ่นฐานการกระจายตัวของชาติพันธุ์ลาวครั่งในหลายพื้นที่อย่างน่าสนใจ