ภาพยนตร์สั้น ขัดกันฉันมิตร ปี 2

คำสำคัญ : ความรุนแรง, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา, สันติภาพ,
ภาพยนตร์สั้น ขัดกันฉันมิตร ปี 2

ประชาธิปไตยของเรื่องเล่าที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้เล่า

                                                                      ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภายนตร์

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ กล่าวถึงการใช้หนังสั้นสำหรับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม “ในฐานะที่ทักษะวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่ทำหน้าที่คล้ายสะพาน เชื่อมคนที่ต่างกันให้เข้าถึงกันได้ เวลาที่เราคิดถึงเครื่องมือที่จะทำหน้าที่เป็นสะพาน ในสมัยที่เราอยู่ต้นศตวรรษที่ 21 เครื่องมือหลายอย่างอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นสะพานอันนี้จำเป็นต้องขยายขอบเขตออกไป เพราะฉะนั้น โครงการอย่างหนังสั้นคือการขยายขอบฟ้าของทักษะวัฒนธรรมให้กว้างขวางออกไปกว่าเดิม”

กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “หนังสั้น” ในทัศนะของฆัสรา มุกดาวิจิตร สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หนึ่งในผู้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างการทำงาน “เป็นทั้งเครื่องมือในการทำความเข้าใจและเป็นเครื่องมือในการเสนอความเข้าใจใหม่สำหรับเรื่องทักษะวัฒนธรรม เหมือนกับว่า ถ้าหนังเป็นกระบวนการในการทำวิจัย ...เราก็ทำความเข้าใจกับการใช้ชีวิตของคน รวมทั้งเป็นเครื่องมือสื่อสารของคน เราสามารถมองข้ามอคติความขัดแย้งแล้วนำไปสู่ทักษะการอยู่ร่วมกันได้บ้าง หนังสั้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร”

หนังสั้นทั้งสิบเรื่องนี้ จึงเป็นทั้งสิ่งที่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ความธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันที่มีความซับซ้อน แต่ที่สำคัญนั่นคือ หนังสือทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวออกไปยังพื้นที่อื่น ให้เห็นว่า ในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้มีเพียงเรื่องของความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรม อย่างน้อยที่สุด อาจช่วยให้ผู้ชมได้คิดว่า “คนเราต่างกันแล้วจะอยู่กันอย่างไร” ดังที่ กรรชิต สรรพโชค บริษัท หับ โห้ หิ้น จำกัด ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในการวางแผนการอบรม พูดถึงเป้าหมายที่ไม่ยิ่งใหญ่แต่มีความหมายกับผู้คนในสังคมร่วมสมัย